Sunday, January 6, 2013

การใช้ชีวิตและการศึกษาต่อที่ออสเตรเลีย



บ่อยครั้งที่ผมได้รับคำถามจากเพื่อนๆพี่ๆน้องๆ ที่เมืองไทย ว่าอยู่ที่ออสเตรเลียเป็นยังไงบ้าง แล้วถ้าจะไปเรียนหรือไปทำงานต้องทำอย่างไรบ้าง เตรียมเอกสารอะไรบ้าง แล้วก็ตามด้วย คำถามอีกหลายคำถามจำพวกว่า "จริงหรือเปล่าว่า .... " หรือไม่ก็ "คนที่รู้จักเคยไปออสเค้าเล่าให้ฟังว่า ..... " อะไรประมาณนี้ ในฐานะที่ตัวผมเองก็ผ่านร้อนผ่านหนาวในแดนจิงโจ้นี้ ใช้ชีวิต (แบบคนปกติที่นี่เค้าใช้กัน) มาสิบปีเศษๆ โดยเริ่มจากพอจบม. 6 แล้วสอบโรงเรียนนายร้อยไม่ติด เลยขอพ่อมาเรียนต่อเมืองนอกโดยที่ไม่รู้เลยว่าจะไปทำไมวะ ? ออสเตรเลียเพราะนอกจากจิงโจ้และโคอล่าก็ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับประเทศนี้เลย อยู่มาจนเรียนจบ ทำงาน และก็ได้เป็นประชากรของที่นี่เสียภาษีอย่างถูกกฏหมาย ทำงานมาก็หลายอย่าง เคยร้องไห้ก็มี ท้อก็เยอะ แต่ส่วนใหญ่จะสุข และก็ผ่านมาได้ เที่ยวมาเกือบทุกรัฐในประเทศนี้เว้นเสียแต่  WT และ NT ที่ไม่เคยเหยียบ รู้จักผู้คนมากมายหลากหลายอาชีพและเชื้อชาติ เทพๆก็เยอะ ห่วยๆก็แยะ เพราะฉะนั้นผมเลยมาคิดว่า น่าจะเขียนอะไรเกี่ยวกับประเทศนี้บ้างซึ่งมันก็เป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของผม เผื่อเนื้อหามันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่อยากจะมาศึกษาต่อที่ประเทศออสเตรเลียนี้ก็เป็นได้
ในเรื่องของการมาศึกษาต่อที่ออสเตรเลียนั้น ผมคงไม่ลงไปลึกถึงรายละเอียดปลีกย่อยว่าควรจะเรียนที่ไหน คอร์สอะไร ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพวกเอเจ้นท์นักเรียนเค้าดีกว่า ไว้ท้าย blog นี้เดี๋ยวผมจะทิ้ง website ของเอเจ้นท์ดีๆไว้ให้ แต่หากท่านใดสนใจที่จะมาเที่ยวที่แดนจิงโจ้นี่ คอยติดตาม blog ผมไว้นะครับ โอกาสหน้าจะทำเป็น Trip itinerary มาให้ท่านอ่าน



ขั้นตอนการมาศึกษาต่อที่ออสเตรเลีย

  1. ให้ถามตัวเองก่อนว่าจะมาเรียนหรือมาทำงาน ข้อนี้สำคัญมากนะครับเพราะคนไทยที่นี่แบ่งออกได้เป็น 2 พวกใหญ่ๆเลย คือตั้งใจมาเรียนจริงๆ ทำงานขำๆ เอาค่าขนม กับพวกที่ตั้งใจมาขุดทอง ในส่วนของพวกหลังนี่ผมเองก็รู้จักหลายท่านที่ได้วีซ่านักเรียนมาแล้วถือโอกาสนั้นมาทำงาน โรงเรียนก็ไปบ้างโดดบ้าง จนถูก immigration ส่งกลับไทยไปก็เยอะ หรือไม่ก็หนีจนกลายเป็นผี (ศัพท์เทคนิคเรียกพวกขาดวีซ่า) ก็มี
  2. เตรียมเอกสาร ใบ transcript เป็นภาษาอังกฤษ, bank statement ให้มีเงินสะพัดในบัญชีประมาณ 6 - 12 เดือน ขอสัก 6 แสนกำลังดี หรืออาจจะให้ญาติพี่น้องsponsor มาก็ได้
  3. เลือกที่เรียน ในข้อนี้ผมขอแนะนำให้หาข้อมูลผ่านเน็ตเยอะๆหรือปรึกษาขอความช่วยเหลือจากพวกเอเจ้นท์นักเรียน ซึ่งจะช่วยเราได้เยอะมาก เพราะเค้าจะช่วยเราเตรียมเอกสาร เลือกที่เรียน ติดต่อประสานงานกับทางสถานฑูตและทางสถานศึกษาให้เรา และยังช่วยจัดหาตั๋วเครื่องบินและที่พักในเบื้องต้นให้ อย่างตัวผมตอนมาที่นี่ใหม่ๆ ก็ได้พี่เอเจนท์เนี่ยแหละครับ ช่วยให้การปรับตัวง่ายขึ้น เพราะเมื่อสิบปีที่แล้วคนไทยในซิดนีย์นับหัวได้เลยครับ
  4. ตรวจร่างกาย การตรวจสุขภาพ จะต้องกระทำโดยผู้สมัครกรอก แบบฟอร์ม 26 & 160 และพบแพทย์ที่ระบุชื่อจากโรงพยาบาลต่างๆ ที่อยู่ในรายชื่อ ที่ได้รับการอนุมัติให้ตรวจ โดยแผนกวีซ่า ของสถานทูตออสเตรเลีย ทางโรงพยาบาลจะจัดส่งผลการการตรวจให้สถานฑูตโดยตรง แล้วอย่าลืมเก็บใบเสร็จไว้ด้วย เพราะต้องใช้เวลาขอวีซ่า
  5. จ่ายเงินค่าเรียน - หลังจากที่เราสมัครเรียนกับทางสถานศึกษาแล้ว เค้าจะออกใบ offer มาให้ แล้วเราก็โอนเงินไปเป็น bank draft หรือแล้วแต่ทางเค้าจะแนะนำมา
  6. ได้ใบ COE ใบนี้สำคัญมาก เพราะ COE ย่อมาจาก copy of enrolment มันคือใบตอบรับจากทางสถานศึกษาว่าเราได้ไปสมัครเรียนกับเค้าจริงๆ และเราจะได้นำใบนี้ไปยื่นขอวีซ่าได้
  7. ขอ student visa ขั้นตอนนี้ผมขอแนะนำให้พวกเอเจ้นท์ทำให้จะสะดวกมาก เพราะเค้าจะมี check list เอกสารมาให้เราเตรียมไปยื่นที่สถานฑูต หลักๆก็ได้บอกไปแล้ว transcript, COE, ใบเสร็จโอนเงิน, ใบเสร็จตรวจร่างกาย, bank statement ในบางครั้งทางสถานฑูตเค้าอาจจะขอเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งถ้าเรามีเจตนาที่ตั้งใจมาเรียนจริงๆ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร
  8. visa ผ่าน เตรียมตัวเดินทาง  ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็คงต้องบอกให้เอาน้ำพริกกับสบู่นกแก้วมาด้วย แต่เดี๋ยวนี้ไทยทาวน์เรามีทุกอย่างครับ สะตอยันปลาร้าเรามีครบ ไม่ต้องแบกมาให้หนัก เตรียมมาแค่ dictionary กับเสื้อกันหนาวก็พอ (ช่วงเมษาถึงตุลา) หากมีเวลาเหลือ ก็แนะนำให้หาคอร์สเรียนภาษาสั้นๆ ภาษาอังกฤษนะครับไม่ใช่เกาหลี จะช่วยเพิ่มความมั่นใจได้พอสมควร
    ถ้าทุกอย่างผ่านไปด้วยดี ก็เตรียมพร้อมเดินทางสู่ดินแดนที่คนที่นี่เรียกว่า " The land down under " และใน blog หน้าผมจะมาบอก tips ว่าควรใช้ชีวิตอย่างไรให้มีความสุขอยู่รอดปลอดภัยและตักตวงความเป็นออสเตรเลียให้เต็มที่



ขอบคุณที่แวะเข้ามาครับ

TDMS

ปล. ผมขออณุญาติทิ้ง website ของเอเจ้นท์นักเรียนและ website สำคัญๆให้เข้าไปอ่านเพื่อจะได้ทำความรู้จักกับประเทศนี้มากขึ้น

เอเจนท์นักเรียน




การใช้ชีวิตในออสเตรเลีย







No comments:

Post a Comment