Tuesday, October 2, 2012

เทคนิคการเก็บเงิน 6 กอง และการลงทุนแบบมนุษย์เงินเดือน




เรื่องการเก็บเงินโดยการแบ่งเงินออกเป็น 6 กองนี้ ผมได้เกริ่นนำไว้ใน blog ที่แล้ว ซึ่งเรื่องเงิน 6 กองนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด และมีผู้เขียนถึงเรื่องนี้หลายท่านไม่ว่าจะทั้งไทยหรือเทศ แต่มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่ผมแนะนำให้ท่านไปหามาอ่าน หนังสือนี้มีชื่อว่า บริหารเงินเก็บผ่านกองทุนรวม” เขียนโดย คุณมนตรี แสวงเดชา ซึ่งอธิบายเรื่องการลงทุนในแบบต่างๆ ไว้อย่างน่าสนใจ แต่เนื้อหาจะเน้นหนักไปในเรื่องของการลงทุนแบบกองทุนรวมเสียเป็นส่วนใหญ่ ผมอ่านแล้วคิดว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจในการลงทุนเบื้องต้นเป็นอย่างมาก ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้ค่าเงินเฟ้อทั่วโลกมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นทุกปี เป็นเหตุให้หากยังจะฝากเงินไว้กับธนาคารแล้วสวดมนต์ภาวนาว่าขออย่าให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินเฟ้อเลย เห็นท่าพระเจ้าคงต้องเหนื่อยหน่อยละคราวนี้
ต้องยอมรับว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังติดกับความคิดที่ว่าการลงทุนเป็นเรื่องของคนรวยหรือพวกเศรษฐี ผมเองก็เช่นเดียวกันเมื่อก่อน ในความเป็นจริงแล้วในปัจจุบันมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆท่านๆ ก็สามารถลงทุนได้ด้วยเงินจำนวนหลักพันหรือหมื่นต้นๆ ผ่านกองทุนรวม รายละเอียดผมขอให้ท่านไปศึกษาเพิ่มเติมดีกว่าเดี๋ยวจะทิ้ง websites ไว้ให้ ไม่งั้นเดี๋ยวจะยาว

โดยนิสัยคนไทยเราแล้ว เรื่องดีคือเราชอบออมเงินไว้เผื่อในยามฉุกเฉิน หรือทิ้งเป็นมรดกไว้ให้ลูกหลาน ซึ่งเป็นเรื่องดี แต่สมัยนี้หากเราจะมารอหวังให้ลูกหลานมาเลี้ยงดูเราในยามเฒ่าแชรแก่ชราเห็นท่าจะยาก ขอพึ่งตัวเองก่อนจะดีกว่า และถ้าจะหวังว่าวันหนึ่งประเทศสยามของเราจะมีสวัสดิการดีๆเพื่อผู้สูงอายุเหมือนกับบางประเทศ อันนี้คงจะเป็นเรื่องยากเหมือนกัน แต่อ่ะนะ อะไรก็เกิดขึ้นได้แต่ผมคงไม่รอล่ะครับ และยิ่งปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้ก้าวล้ำไปมาก คนเราก็มีอายุยืนขึ้น ซึ่งแน่นอนชีวิตหลังเกษียญก็ต้องยาวนานยิ่งขึ้น คุณคงต้องเลือกแล้วล่ะว่า คุณอยากให้ชีวิตในช่วงบั้นปลายของคุณเป็นแบบใด ???

การแบ่งเงินออกเป็น 6 กองนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องมาแบ่งสรรปันส่วนให้ในจำนวนเท่าๆกัน แล้วแต่วัตถุประสงค์หรือความต้องการของแต่ละบุคคล วิธีเก็บเงิน 6 กองนี้ผมได้ประยุกต์และปรับปรุงมาจากแหล่งข้อมูลหลายๆแห่ง ให้เหมาะสมกับตัวผมเอง ซึ่งคุณผู้อ่านอาจจะไปปรับเปลี่ยนให้มันสอดคล้องกับตัวคุณเองก็ได้

เงินกองแรก -  กองทุนเพื่อยามฉุกเฉิน
เงินก้อนนี้ควรที่จะเป็นก้อนแรกที่คุณควรจะเก็บให้ได้ เพราะมันเป็นเหมือนกับบ่อน้ำมันบ่อสุดท้ายที่คุณจะขุดออกมาใช้ยามฉุกเฉินจริงๆ แต่ทางที่ดีที่สุดภาวนาว่ามันคงไม่มีเหตุการณ์ให้เราต้องมาแคะกระปุกเอาเงินก้อนนี้ออกมาใช้ แต่หากโชคชะตาเล่นตลก เกิดเหตุที่เราไม่คาดฝันเกิดขึ้น เราจะได้ไม่ตกที่นั่งลำบาก ฝรั่งเค้าพูดว่า "ในวันที่ฝนตก คุณจะได้ไม่ต้องเปียกปอน"
วิธีเก็บเงินก้อนนี้ - เวลามีรายได้เข้ามา ผมสมมติว่าเป็นเงินเดือนละกัน ให้พยายามที่จะเก็บเงินก้อนนี้ให้ได้ 4 - 6 เท่าของเงินเดือนคุณ จะรีบเก็บให้ได้เร็วที่สุดหรือทยอยเก็บให้ครบก็ได้ แต่อย่าให้นานเกินไป สมมติว่าถ้าได้เงินโบนัสมา ก็รีบมาโปะให้ครบ แล้วพอได้ครบจำนวนตามที่ต้องการแล้ว ก็ไปเปิดบัญชีฝากไว้กับธนาคารเลือกเอาบัญชีที่เราสามารถถอนออกมาเมื่อไรก็ได้ และดอกเบี้ยดีหน่อย แล้วปล่อยให้ดอกเบี้ยมันทำงานของมันไปเรื่อยๆ บางทีเงินก้อนนี้ในชั่วชีวิตคุณ คุณอาจจะไม่ต้องใช้มันเลยก็ได้ ลองคิดดูเล่นๆละกัน ผมสมมติว่าเงินออมยามฉุกเฉินของคุณคือ 60000 บาท ดอกเบี้ยธนาคารต่อปีที่คุณหามาได้ตก 3 % ต่อปี แล้วคุณก็ปล่อยทิ้งไว้เลยโดยที่คุณไม่ฝากเงินเพิ่ม แล้วพอคุณเกษียญค่อยถอนออกมา สมมติว่าอีกสัก 30 ปีละกัน ด้วยพลังของดอกเบี้ย เงินก้อนนี้จะกลายเป็น 145,635 บาทโดยที่คุณแค่ปล่อยทิ้งไว้ ปล. ผมสมมติว่าเงินเฟ้อเป็นศูนย์

เงินกองที่สอง - กองทุนร่ายจ่ายในชีวิตประจำวัน
เงินก้อนนี้จะเป็นเงินก้อนที่เราสามารถควบคุมและกำหนดได้ เช่นค่าใช้จ่ายในบ้านต่างๆ ค่ากิน ค่าเดินทาง บางท่านอาจมีค่าบ้าน และค่าส่งรถ ซึ่งผมถือว่ารายจ่ายในเงินกองนี้ค่อนข้างหนัก แต่หากเราสามรถที่รัดเข็มขัด งดสิ่งของฟุ่มเฟือยไม่จำเป็นทิ้งซะ งดเเที่ยวกลางคืน เหล้า บุหรี่ งดซื้อของ brand name ต่างๆ แทนที่จะทานข้าวนอกบ้านอาทิตย์ละครั้ง ก็หัดทำกับข้าวกินเองที่บ้านจะประหยัดได้มากแถมสนุกอีกต่างหาก ผมพูดให้ฟังอย่างไม่อายเลยว่า ผมห่อข้าวกลางวันไปกินที่ทำงานมาเกือบ 3 ปีแล้ว chilled จะตายคุณเอ๋ย หากคุณละจากสิ่งยั่วยุพวกนี้ได้ รับรองคุณจะมีเงินเก็บมากขึ้นอย่างแน่นอน

ส่วนตัวผมเอง พยายามที่จะจำกัดเงินกองนี้ให้ต่ำกว่า 35 - 40% ของรายได้ อะไรที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตมากนัก ผมพยายามจะตัดออกให้มากที่สุด อย่างคนที่รู้จักผมจะรู้ว่าผมไม่ได้มีโทรศัพท์ราคาแพงใช้ ขับรถญี่ปุ่นธรรมดา ไม่ได้เป็นเมมบ้ง เมมเบอร์ ตาม fitness ต่างๆ คือผมมองว่ามันไม่ได้จำเป็นอะไร และไม่สนใจว่าตัวเองจะอยู่ในกระแสหรือไม่ เพราะเวลาคุณลำบากลำบนหรือกู้หนี้ยืมสินไปซื้อของเหล่านี้มาประดับบารมี คนเหล่านั้นไม่ได้มาช่วยคุณซักเหรียญเดียว เพราะฉะนั้นแล้ว ผมจะย้ำนักย้ำหนาว่า อะไรก็ตามที่จ่ายเพื่อก่อหนี้สิน หรือไม่มีมูลค่าตามความเป็นจริง อย่าได้หลงไปกับมันเด็ดขาด ผมไม่อายด้วยซ้ำที่จะเล่าให้ฟังว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้วสมัยมีบัตรเครดิตใหม่ๆ คือตอนนั้นยังเด็ก คิดว่าตัวเองเจ๋ง เงินเดือน start $2500 ธนาคารให้วงเงิน $9000 คุณเอ๋ย !! เด็กอย่างผมเพิ่งเริ่มทำงาน office เริ่มเข้าสังคม ไม่ถึง 2 เดือน ผม maxed out วงเงินที่มี ร้านไหนหรูใน Sydney ผมตระเวนกินมาหมด แล้วคิดว่า ช่างมันเหอะเดี๋ยวค่อยทยอยจ่ายก็ได้ อนิจจา ราชาเงินผ่อน คุณเชื่อไหมว่า จ่ายยังไงก็สู้ดอกเบี้ยไม่ได้ ร้อยละ 19.50 จุกสิครับพี่น้อง ไม่กล้าบอกที่บ้านกลัวพวกท่านจะลมใส่ เลยกัดฟันจ่ายเงินเรื่อยมาจนหมด แล้วช่วงนั้นถือเป็นบทเรียนชีวิตที่เงิน $9000 ซื้อมาเกินคุ้มจริงๆ ได้เห็นใบทวงหนี้จากธนาคาร ว่าจะเอาเราขึ้นศาล ได้รับโทรศัพท์โทรเร่งรัดหนี้ ได้เข้าไปเจรจาขอผ่อนหนี้ และพบปะกับคนที่ตกที่นั่งเหมือนกับเราหลายท่าน จนทำให้เรามีแรงใจเริ่มเก็บเงินไปด้วยและทยอยจ่ายหนี้ไปด้วย ใช้เวลาจ่ายอยู่เกือบ 2 ปีจนหมด ทุกวันนี้ ยังเก็บบัตรเครดิตใบแรกและใบสุดท้ายนี้เตือนใจเสมอ ว่าถ้าไม่มีเงินสดซื้อ อย่าซื้อเด็ดขาด เพราะว่าชีวิตที่ไม่เป็นหนี้ใคร นี่มันบรมสุขเลยนะคุณ เรื่องเป็นหนี้บัตรเครดิตนี้ ไว้โอกาสหน้ามาเล่าให้ฟังละกัน เริ่มจะออกแนวดราม่าและ

วิธีเก็บเงินก้อนนี้ ผมจะเปิดบัญชี saving แยกต่างหาก มันจะได้ไม่ปนกับเงินกองอื่น โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงดอกเบี้ยมากนัก เอาแค่ที่มันสะดวกเราก็พอ และจดประสงค์หลักคือหากผมมีเงินเหลือเก็บจากเงินกองนี้ผมจะได้ไปทำอย่างอื่นได้อีก

เงินกองที่สาม - กองทุนหลังจากเกษียญ
เงินกองนี้ผมจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะผมอยากเกษียญตอนอายุ 50 ปี ถ้าทำได้ ผมเริ่มคิดถึงเรื่องเกษียญอย่างจริงจังมาในช่วง 3 ปีนี้ เพราะผมเห็นตัวอย่างมากมายจากคนที่รายได้ไม่สูงมากแต่เตรียมตัวตั้งแต่อายุยังน้อย เกษียญอายุด้วยเงินหลักล้านเหรียญ หรือคนรายได้สูงมาก แต่บั้นปลายชีวิตกลับไม่เหลืออะไรเลย และผมไม่อยากเป็นแบบนั้นและผมก็เชื่อว่าไม่มีใครอยากจะจบไม่สวยหรอก คือผมอยากมีบั้นปลายชีวิตที่สุขสบาย ไม่จำเป็นต้องรวยล้นฟ้า ขอแค่พอมีกินสบายๆ ไม่ต้องลำบากลูกหลาน อยู่ที่ไหนสักที่ทางภาคเหนือของไทยที่มันเงียบสงบ เข้าวัดทำบุญตามประสา แต่อย่างว่าแหละครับ อนาคตมันเป็นเรื่องที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่นี่คือเป้าหมายระยะยาวที่สุดของผมและภรรยาจะทำให้ได้ บางคนอาจคิดว่า ยังหนุ่มยังแน่นมาคุยเรื่องเกษียญอายุ ไม่ไกลตัวไปหน่อยหรือ ผมว่าไม่นะครับ ถ้าคุณยังมองเห็นอยู่แค่วันเงินเดือนออก โดยที่ไม่มองไปให้ไกลกว่านั้น คุณจะไม่มีวันสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองได้เลย เพราะฉะนั้นเริ่มมองภาพตัวเองเกษียญอายุเสียตั้งแต่วันนี้นะครับ
วิธีเก็บเงินก้อนนี้ - ผมจะกันเงิน 20 % ของเงินเดือนผมเข้าไปในบัญชีที่จ่ายดอกเบี้ยสูง และห้ามถอนเป็นระยะเวลา 1 ปีเป็นอย่างต่ำ คือผมจะไม่เสี่ยงเลยกับเงินก้อนนี้ บางคนก็แนะนำให้ไปซื้อพันธบัตรรัฐบาล 10 ปี หรือลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อการลดหย่อนภาษี แต่ผมเป็นพวกใจปลาซิวกับเงินก้อนนี้ ผมพยายามที่จะไม่ให้มีความเสี่ยงเลยดีกว่า ที่ออสผมเลือกฝากเงินผมใน term deposit ของธนาคาร เขาจะห้ามเราถอนเงินเป็นระยะเวลาเท่าไรก็แล้วแต่ option ผมเลือกฝากแค่ปีต่อปี เพราะไม่รู้ว่าจะกลับไทยเมื่อไหร่ ในส่วนของดอกเบี้ย 5.5% ซึ่งนับว่าไม่เลว ในส่วนของที่เมืองไทยผมไม่ทราบจริงๆ ว่ามี option ใดบ้าง รายละเอียดอย่างไร ซึ่งผมอยากให้ทุกท่านไปศึกษาหาความรู้เรื่องนี้กันเอาเอง ในส่วนของ concept ผมว่ามันคงจะคล้ายๆกัน ว่างๆคุณลองเดินดุ่มๆเข้าไปในธนาคารใดก็ได้ที่คุณชอบ ไม่ต้องมีพีธีรีตอง แต่งตัวให้สุภาพหน่อยเพื่อความน่าเชื่อถือ แล้วถามเขาเลยว่า "ผมวางแผนจะลงทุนเพื่อการเกษียญ มี options อะไรให้ผมอ่านหรือแนะนำบ้าง" เชื่อผมเถอะครับ แล้วคุณจะได้รู้สึกว่า คุณเป็นนายของธนาคารเพียงแค่คำถามพื้นๆเหล่านี้

เงินกองที่สี่ - กองทุนเพื่อความฝัน
ผมเชื่อว่าทุกคนมีความฝัน ฝันอยากจะมีบ้าน ฝันอยากจะมีธุรกิจของตัวเอง ฝันอยากไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ฝันที่จะเที่ยวรอบโลก ซึ่งเงินก้อนนี้แหละครับที่จะทำให้คุณกล้าที่จะฝัน ในส่วนที่จะทำให้ฝันคุณเป็นจริงไหม มันขึ้นอยู่กับตัวคุณแล้วครับ เงินในกองนี้จะเก็บมากน้อยเท่าไร มันอยู่ที่วัตถุประสงค์ของคุณ คุณอาจจะซอยย่อยไปเหมือนผมก็ได้ เช่น เพื่อการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งผมจะเน้นมากเป็นพิเศษ หลายปีก่อนได้เป็นอาสาสมัครไปทำความสะอาดบ้านพักคนชรา แถวๆ North Sydney ได้มีโอกาสคุยกับคุณปู่ท่านหนึ่ง แกเล่าให้ผมฟังว่า หากย้อนเวลาไปได้ จะขอท่องเที่ยวให้มากกว่านี้ เสียดายเวลาที่ผ่านมาทำแต่งาน ซึ่งผมถอดหมวกคารวะเห็นด้วยกับความจริงข้อนี้ เพราะผมเชื่อว่า การท่องเที่ยวนั้นนอกจากเป็นการณ์เปิดโลกทัศน์ใหม่ๆให้กับตัวเอง และยังเป็นการให้รางวัลกับชีวิตอีกด้วย และเหนือสิ่งอื่นใด การท่องเที่ยวถือเป็น “การลงทุนในความทรงจำของเราเอง”
หากคุณสามารถเก็บเงินในกองแรกครบแล้วและยังมีเงินเหลือเก็บในแต่ละเดือนจากเงินกองที่สอง คุณก็อาจจะเก็บไว้ที่นี่ก็ได้ เผื่อบางทีคุณอาจจะเก็บเงินดาวน์ซื้อบ้านมันจะได้เก็บได้เร็วยิ่งขึ้น

เงินกองที่ห้า - กองทุนเพื่อความมั่งคั่ง
เงินก้อนนี้จะเป็นเงินก้อนที่เราจะใช้ในการลงทุนอย่างเดียว คือหากเสียไปก็ไม่ได้ลำบากเรา เพราะเราได้กันไว้หมดแล้ว เราจึงสามารถเต็มที่กับมันได้ คุณจะเลือกลงทุนในตลาดหุ้น, พันธบัตร, ซื้อเงินต่างประเทศเก็บไว้, ซื้อทอง เพราะในประวัติศาสตร์ราคาทองในระยะยาวมีแต่ขึ้นกับขึ้น, กองทุนรวมต่างๆ หรือแม้แต่อสังหาริมทรัพย์ก็แล้วแต่ความชอบหรือแนวโน้มตลาด ณ ช่วงเวลานั้นของอย่างนี้สอนกันไม่ได้ต้องล้มเองเจ็บเองถึงจะลุกเป็น
ในส่วนวิธีเก็บเงินก้อนนี้ของผม เวลาเงินเดือนออกผมจะตัด 10% ทันทีไว้เพื่อการลงทุน ผมจะเน้นลงทุนในกองทุนรวมเพราะไม่ค่อยมีเวลามาติดตามข่าวสาร จะเลือกลงทุนในกองทุนรวมทองคำ อสังหาและน้ำมัน กระจายความเสี่ยงไปหลายๆทาง และจะเน้นลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่นซื้อที่ดินเก็บไว้ที่ไทย เพราะผมคิดว่าอีกหน่อยประชากรต้องเพิ่มมากขึ้นที่ดินย่อมมีจำนวนจำกัดทำให้มูลค่ามันจะสูงขึ้นไปเอง พูดถึงการลงทุนในอสังหาเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ต้องใช้เงินเยอะ แต่หากคุณสนใจจริงๆ แต่ยังมีเงินไม่มากพอ ผมขอแนะนำให้ลงทุนผ่านกองทุนรวมอสังหา เพราะจะมีมืออาชีพมาคอยดูแลให้ ซึ่งถือว่าลดความเสี่ยงไปได้เยอะทีเดียวและโดยส่วนมากกำไรที่ได้จะสูงกว่าดอกเบี้ยธนาคารอยู่พอสมควร อยากให้ลองไปศึกษาดู ถ้ารักทางนี้อย่าได้อยู่เฉยเด็ดขาดหมั่นศึกษาหาความรู้ด้านการเงินการลงทุนบ่อยๆ แล้วจะดีเองเชื่อผม

เงินกองที่หก - กองทุนเพื่อความสบายใจเงินก้อนนี้สำคัญไม่แพ้กองอื่นๆ เพราะมันช่วยให้เรามีความสบายใจว่าเราได้ทำหน้าที่การเป็นมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ นั่นก็คือความกตัญญูต่อบุพการีที่ท่านเลี้ยงดูเรามา ท่านจะเก็บเงินก้อนนี้อย่างไร มากน้อยเท่าไร ตามแต่สะดวกท่านและหากมีเงินเหลือท่านก็อาจจะนำเงินในส่วนนี้ไปทำบุญหรือบริจาคก็ได้ตามแต่ที่ท่านศรัทธา

เรื่องที่เล่ามานี้ ผมเขียนมาจากประสพการณ์จริงซึ่งอยากถ่ายทอดให้ทุกท่านได้อ่าน เผื่อจะเป็นแนวทางในการเก็บออมและการลงทุนเบื้องต้น ผมเองไม่ได้เป็นคนเก่งวิเศษมาจากไหน ยังเป็นมือสมัครเล่นอยู่ มีข้อผิดพลาด และก็วิ่งชนฝาเจ็บตัวก็บ่อย แต่อาศัยครูพักลักจำและศึกษาหาความรู้ด้านการเงินตลอด ทำให้รู้แล้วว่าการลงทุนไม่ใช่ของคนรวยหรือเรื่องไกลตัวเลย มนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆก็สามารถที่จะมาลงทุนได้เช่นกัน

ขอบคุณนะครับที่เข้ามาอ่าน หากผิดพลาดประการใดขอความกรุณาชี้แนะด้วยครับ :)

บุญรักษา

TDMS

******* ผมได้ทิ้ง websites ดีๆ เกี่ยวกับการลงทุนหากท่านใดสนใจ ก็เข้ามาศึกษาได้ *******

 *********** การลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยง โปรดศึกษาให้รอบคอบ **************






1 comment:

  1. เขียนดีครับ ขอบคุณครับ

    ReplyDelete